วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

พันธุ์หมูในประเทศไทย



หมูพันธุ์พื้นเมือง

หมูพันธุ์พื้นเมืองปัจจุบันมีจำนวนค่อนข้างน้อยมาก จะพบในบางท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนใหญ่มักจะได้รับการผสมพันธุ์จากหมูพันธุ์ต่างประเทศ

เนื่องจากไม่ได้รับการปรับปรุง หรือคัดเลือกให้เป็นหมูพันธุ์ที่ดี หมูพันธุ์พื้นเมืองจึงมีลักษณะ และคุณสมบัติโดยทั่วไปเลวลง คือ มีขนาดเล็ก เติบโตช้า สามารถเปลี่ยนอาหารไป เป็นเนื้อได้น้อย คุณภาพค่อนข้างต่ำ คือ มีเนื้อแดงน้อย มันมาก ลำตัวสั้น หนังแอ่น สะโพกและไหล่เล็ก หมูพันธุ์พื้นเมืองแบ่งออกเป็นพันธุ์ต่างๆ ได้ดังนี้

หมูพันธุ์ไหหลำ

หมูพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีน พบในภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทย ลำตัวมีสีขาวกับดำปนกัน สีดำมากในตอนหัว ไหล่ หลัง และบั้นท้าย ส่วนตอนล่างของลำตัวมีสีขาว

หมูพันธุ์ไหหลำมีหัวได้รูปงาม จมูกยาวและแอ่นเล็กน้อย คางย้อย และไหล่ใหญ่ ลำตัวยาวปานกลาง หลังแอ่น สะโพกเล็ก ขาและข้อเหนือกีบเท้าอ่อน หมูไหหลำเติบโต และสืบพันธุ์ ดีกว่าหมูพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ

หมูพันธุ์ควาย

พบเลี้ยงในภาคเหนือของประเทศไทย สีของหมูพันธุ์นี้คล้ายสีของหมูพันธุ์ไหหลำ แต่ลำตัวมีสีดำเป็น

ส่วนใหญ่ จมูกของหมูพันธุ์ควายตรงกว่า และสั้นกว่า และมีรอยย่นมากกว่า ลำตัวเล็กกว่าหมูพันธุ์ไหหลำ ไหล่และสะโพกเล็ก ขาและข้อเหนือกีบเท้าอ่อน พ่อหมูพันธุ์ควาย โตเต็มที่หนัก ๑๒๕-๑๕๐ กิโลกรัม แม่หมูหนัก ๑๐๐-๑๒๕ กิโลกรัม น้ำหนักที่เหมาะสำหรับส่งตลาด ประมาณ ๘๐ กิโลกรัม

หมูพันธุ์ราด

พบเลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หัวของหมูพันธุ์ราดมีรูปงามยาวและตรง ลำตัวสั้นและแน่น กระดูกแข็งแรง แต่เจริญเติบโตช้า

หมูพันธุ์พวง

เลี้ยงกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีสีดำ หมูพันธุ์พวงเป็นหมูที่มีผิวหนังหยาบมากที่สุด ดังนั้น จึงขายได้ในราคาต่ำกว่าหมูพันธุ์อื่น หมูพันธุ์พวง ส่วนมากใช้ผสมกับหมูพันธุ์ราด เพื่อให้ได้รูปขนาด และการเจริญเติบโตดีขึ้น อย่างไรก็ตามการนำหมูพันธุ์ต่างประเทศมาผสม เพื่อปรับปรุงพันธุ์จะได้ผลดีกว่า

ขอบคุณที่มา : kanchanapisek.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น